‘สพฐ.’เร่งคลอดปฏิทินเฟ้นบิ๊กร.ร. โยน ‘อ.ก.ค.ศ.เขต’ ฟันธงออกข้อสอบ

‘สพฐ.’เร่งคลอดปฏิทินเฟ้นบิ๊ก ร.ร. โยน ‘อ.ก.ค.ศ.เขต’ ฟันธงออกข้อสอบ สั่งสำรวจตัวเลข ‘ร.ร.ห่างไกล’ ก่อนเปิดรับ
นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมจัดสอบคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษาและผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัดสพฐ. โดยคาดว่าจะประกาศรับสมัครภายในเดือนกรกฎาคมนี้ และจะเร่งดำเนินการจัดสอบให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน เพื่อบรรจุแต่งตั้งทดแทนอัตราเกษียณในวันที่ 1 ตุลาคม สำหรับการจัดสอบ สพฐ. จะกระจายอำนาจให้คณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษาดำเนินการ ซึ่งรวมถึงการออกข้อสอบ ก็จะขึ้นอยู่กับอ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา ว่าจะออกข้อสอบเอง หรือมอบหมายให้มหาวิทยาลัยในพื้นที่ดำเนินการออกข้อสอบ
“การจัดสอบรองผู้อำนวยการสถานศึกษา และผู้อำนวยการสถานศึกษา ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรก หลังได้รับการถ่ายโอนอำนาจการบริหารงานบุคคลคืน จากคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ดังนั้นจึงอยากให้เขตพื้นที่ฯ ดำเนินการอย่างรอบคอบ โดยอาจจะต้องถอดบทเรียนจาก กรณีการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตำแหน่งครูผู้ช่วย รอบทั่วไป ปี 2566ที่เพิ่งผ่านมา มาวิเคราะห์ เพราะการจัดสอบแต่ละครั้งใช้งบประมาณพอสมควร ดังนั้นจึงต้องหาวิธีการที่เหมาะสม มาคัดเลือกผู้บริหารโรงเรียน เชื่อว่า อ.ก.ค.ศ.แต่ละเขตพื้นที่ฯ จะมีความเข้าใจ และดำเนินการได้อย่างเหมาะสม” นายอัมพรกล่าว
นายสุรินทร์ มั่นประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการ (สพร.) สพฐ.กล่าวว่า ขณะนี้ สพร.ได้เสนอปฏิทินสอบผู้อำนวยการโรงเรียน และรองผู้อำนวยการโรงเรียน ให้เลขาธิการกพฐ. พิจารณาเรียบร้อยแล้ว โดยจะประกาศปฏิทินการคัดเลือกผู้บริหารสถานศึกษา และรองผู้บริหารสถานศึกษา สำหรับโรงเรียนทั่วไป รองผู้อำนวยการสถานศึกษา และผู้อำนวยการสถานศึกษา สำหรับสถานศึกษาในพื้นที่พิเศษไปพร้อมกัน โดยจากนี้จะให้เขตพื้นที่ฯ เลือกโรงเรียที่อยู่ในพื้นที่พิเศษ ตามภูมิประเทศหรือตามประกาศกระทรวงการคลัง จากนั้นเสนอชื่อโรงเรียนให้อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่ฯ พิจารณา ว่า เป็นโรงเรียนพื้นที่พิเศษหรือไม่ ก่อนจะส่งรายชื่อเสนอให้ เลขาธิการกพฐ. พิจารณา ประกาศให้เป็นโรงเรียนในพื้นที่พิเศษต่อไปจากนั้นจึงจะประกาศปฏิทินสอบพร้อมกับรอบปกติ เพื่อให้ผู้ที่มีสิทธิสอบได้เลือก ว่าจะสมัครสอบไปเป็นผู้บริหารโรงเรียนห่างไกล หรือสมัครสอบคัดเลือกในกลุ่มโรงเรียนทั่วไป
“สำหรับผู้ที่เลือกสมัครผู้บริหารโรงเรียนห่างไกล จะใช้การประเมิน โดยไม่มีการสอบข้อเขียน ให้ผู้ดำเนินการคัดเลือกประเมินตามองค์ประกอบที่ ก.ค.ศ.กำหนด ได้แก่ ประวัติและประสบการณ์ ประเมินผลการปฏิบัติงานที่ผ่านมา และผลงานที่ภาคภูมิใจ แนวคิดในการพัฒนาสถานศึกษาที่สมัครคัดเลือก และสัมภาษณ์ เพื่อให้ได้บุคคลที่มีทั้งความรู้ และประสบการณ์ในการบริหาร มีศักยภาพ และทักษะในการดำรงชีวิต รวมทั้งมีเจตคติ และอุดมการณ์ในการปฏิบัติงานในพื้นที่พิเศษ และจะไม่มีการขึ้นบัญชี 2 ปี เหมือนกันกลุ่มทั่วไป แต่จะมีแรงจูงใจ โดยสามารถขอมีและเลื่อนวิทยฐานะได้ภายใน 3 ปี จากเดิมที่กำหนดไว้ 4 ปี รวมถึงได้สิทธิประโยชน์ตามประกาศของกระทรวงการคลัง” นายสุรินทร์กล่าว
[อ่านต่อ]