แนวทางการดำเนินงานตามโครงการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566

แนวทางการดำเนินงานตามโครงการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566
โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้บัญญัติสาระสำคัญในหมวด 5 หน้าที่ของรัฐด้านการศึกษา โดยมาตรา 54 รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษา เป็นเวลาสิบสองปีตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย และบัญญัติเกี่ยวกับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายว่าในการดำเนินการให้เด็กเล็กได้รับการดูแลและพัฒนา หรือให้ประชาชนได้รับการศึกษา รัฐต้องดำเนินการให้ผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการศึกษาตามความถนัดของตน
ในส่วนของบทบัญญัติของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ได้บัญญัติเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ทางการศึกษาในลักษณะเช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 โดยมาตรา 10 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติไว้ว่า การจัดการศึกษาต้องจัดให้บุคคลมีสิทธิและโอกาสเสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่าสิบสองปีที่รัฐต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ประกอบกับมาตรา 14 บัญญัติว่า บุคคล ครอบครัวชุมชน องค์กรชุมชน องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการและสถาบันสังคมอื่น ซึ่งสนับสนุนหรือจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีสิทธิได้รับสิทธิประโยชน์ตามควรแก่กรณี ดังต่อไปนี้  1) การสนับสนุนจากรัฐให้มีความรู้ความสามารถในการอบรมเลี้ยงดูบุคคล ซึ่งอยู่ในความดูแลรับผิดชอบ  2) เงินอุดหนุนจากรัฐสำหรับการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานตามที่กฎหมายกำหนด 3) การลดหย่อนหรือยกเว้นภาษีสำหรับค่าใช้จ่ายการศึกษาตามที่กฎหมายกำหนด
นอกจากนี้ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เห็นว่า นโยบายจัดการศึกษาไม่เก็บค่าใช้จ่ายเป็นเวลา 15 ปี สอดคล้องกับนโยบายด้านการศึกษาของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และนโยบายปฏิรูปการศึกษาของรัฐบาล ทั้งสามารถลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาสทางการศึกษา และความเป็นธรรมในสังคม แก้ปัญหาความยากจน ตลอดจนส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และสอดคล้องกับความต้องการของประชาชน จึงได้ออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 28/2559 เรื่อง ให้จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ วันที่ 15 มิถุนายน พุทธศักราช 2559 ได้ยืนยันแนวทางการจัดให้บุคคลได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่า 15 ปี โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย และพัฒนาต่อไปด้วยการยกระดับจากการเป็นโครงการตามนโยบายของแต่ละรัฐบาล ให้เป็นหน้าที่ของรัฐและมาตรการตามกฎหมาย เพื่อเป็นหลักประกัน ความยั่งยืน และให้สามารถจัดงบประมาณสนับสนุนได้อย่างต่อเนื่อง โดยให้ความหมายของค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี การศึกษาพิเศษและการศึกษาสงเคราะห์ ดังนี้
ค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษา หมายความว่า งบประมาณที่รัฐจัดสรรให้แก่หรือผ่านทางสถานศึกษา หรือผู้จัดการศึกษา เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี และ การศึกษาขั้นพื้นฐาน 15  ปี หมายความว่า การศึกษาตั้งแต่ระดับก่อนประถมศึกษา (อนุบาล) (ถ้ามี) ระดับประถมศึกษาจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช. 3) หรือเทียบเท่า และให้หมายความรวมถึงการศึกษาพิเศษและการศึกษาสงเคราะห์ด้วย นอกจากนี้ ได้กำหนดความหมายของคำว่า การศึกษาพิเศษ หมายความว่าการจัดการศึกษาให้แก่บุคคลซึ่งมีความผิดปกติอย่างหนึ่งอย่างใด ซึ่งจำเป็นต้องจัดการศึกษาให้เป็นรูปแบบโดยเฉพาะ และอาศัยเทคนิคต่าง ๆ ในการสอนตามลักษณะความต้องการและความจำเป็นของแต่ละบุคคล และการศึกษาสงเคราะห์ หมายความว่า การจัดการศึกษาให้แก่เด็กที่ตกอยู่ในภาวะยากลำบาก หรืออยู่ในสถานภาพที่ด้อยกว่าเด็กทั่วไป หรือที่มีลักษณะเป็นการกุศล เพื่อให้มีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีพัฒนาการที่ถูกต้องและเหมาะสมกับวัย
ทั้งนี้ คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 28/2559 กำหนดแนวทางการดำเนินงานให้จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ข้อ 2 ให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด เตรียมการเพื่อจัดให้เด็กเล็กก่อนวัยเรียนได้รับการดูแลและพัฒนาทางร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคมและสติปัญญา โดยส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการ ข้อ 3 ให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานดำเนินการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี ให้มีมาตรฐานและคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี กำหนดอัตราค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาสำหรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี เพื่อเสนอตามกระบวนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีโดยมีค่าใช้จ่ายได้แก่ ค่าจัดการเรียนการสอน ค่าหนังสือเรียน ค่าอุปกรณ์การเรียน  ค่าเครื่องแบบนักเรียน  ค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน และค่าใช้จ่ายอื่นตามที่ณะรัฐมนตรีเห็นชอบ และค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่มีผลใช้อยู่ในวันก่อนวันที่คำสั่งนี้ใช้บังคับ ยังคงมีผลใช้บังคับต่อไปจนกว่าจะมีการกำหนดอัตราค่าใช้จ่ายสำหรับการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15  ปี ตามข้อ 3
โดยการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้มีมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2552 อนุมัติตั้งงบประมาณเป็นรายปี เพื่อดำเนินงานสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นลำดับต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน และมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2549 อนุมัติให้ปรับอัตราค่าเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายต่อหัวสำหรับการศึกษาขั้นพื้นฐานทุกระดับการศึกษา ทั้งในระบบโรงเรียนและนอกระบบโรงเรียน โดยแบ่งการปรับเพิ่มเป็น 3 ปีการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปีการศึกษา 2553
อนึ่ง มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2565 อนุมัติในหลักการการปรับอัตราเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัวสำหรับผู้เรียนการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยปรับอัตราเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายใน 4 รายการ ได้แก่ 1) ค่าจัดการเรียนการสอน 2) ค่าอุปกรณ์การเรียน 3) ค่าเครื่องแบบนักเรียน และ 4) ค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน โดยการปรับเพิ่มในปีที่ 1 (พ.ศ. 2566) ให้ทยอยปรับเพิ่มขึ้นแบบขั้นบันได (งบประมาณผูกพันต่อเนื่อง) จนถึงปีที่ 4 (พ.ศ. 2569) ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้เรียน และเพิ่มศักยภาพสถานศึกษาในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2561 – 2580 ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ  โดยมิติด้านการศึกษาเป็นมิติหนึ่งที่ให้ความสำคัญในการมุ่งสร้างความเป็นธรรมในการเข้าถึงบริการ  เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินงานตามโครงการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้นักเรียนทุกคนมีความพร้อมที่จะได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษา โดยการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ
โดยมีจำนวนนักเรียนที่ได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานปีการศึกษา 2566 จำนวนทั้งสิ้น 6,627,264  คน จำแนกได้ ดังนี้ 1) จำแนกตามระดับการศึกษา ดังนี้ ระดับก่อนประถมศึกษา 847,627  คน ระดับประถมศึกษา 3,013,039  คน ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 1,690,962  คน ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 1,053,385  คน ระดับ ปวช. (สถานประกอบการ) 5,656  คน นักเรียนในศูนย์การศึกษาพิเศษ 16,595  คน 2) จำแนกตามประเภทโรงเรียน และจำนวนนักเรียน ดังนี้ โรงเรียนปกติ (จำนวน 29,265 โรง) 6,557,027  คน  โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ (จำนวน 52 โรง) 33,359 คน โรงเรียนการศึกษาพิเศษ (จำนวน 49 โรง) 12,426  คน ศูนย์การศึกษาพิเศษ (จำนวน 77 ศูนย์) 16,595 คน การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัว/สถานประกอบการ 7,857  คน  (จัดโดยครอบครัว 2,201 คน และ จัดโดยสถานประกอบการ 5,656 คน)
โดยการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษา ตามโครงการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 นั้นจะส่งผลให้นักเรียนได้รับโอกาสการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา นักเรียนมีคุณภาพตามมาตรฐาน มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์และรับผิดชอบต่อครอบครัว สังคม ประเทศชาติและเป็นพลเมืองดีของโลก สถานศึกษาสามารถบริหารจัดการในการจัดการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ผู้ปกครองมีความพึงพอใจที่ได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน และลดภาระค่าใช้จ่ายในการศึกษาของนักเรียนได้
สำหรับในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โดยปรับอัตราเงินอุดหนุน ในรายการค่าจัดการเรียนการสอน เพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 2 ค่าอุปกรณ์การเรียน เพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 17  ค่าเครื่องแบบนักเรียน เพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 7  และค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน เพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 2 เพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยรัฐจัดสรรงบประมาณตามแผนงานยุทธศาสตร์ สร้างความเสมอภาคทางการศึกษาโครงการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน กิจกรรมการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน งบเงินอุดหนุน จำนวน  5 รายการ รวมงบประมาณทั้งสิ้น  37,054,791,800 บาท ดังนี้  ค่าจัดการเรียนการสอน 21,906,927,400 บาท  ค่าหนังสือเรียน 5,136,298,600 บาท ค่าอุปกรณ์การเรียน 2,925,266,500 บาท ค่าเครื่องแบบนักเรียน2,803,059,100 บาท และค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน 4,283,240,200 บาท
โดยค่าจัดการเรียนการสอน หมายถึง  เงินงบประมาณงบเงินอุดหนุนประเภทเงินอุดหนุนทั่วไปเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้แก่ เงินอุดหนุนรายหัว ปัจจัยพื้นฐานสำหรับนักเรียนยากจน ค่าอาหารนักเรียนประจำพักนอน โดยมีเกณฑ์ และแนวทางการดำเนินการ ดังนี้ เงินอุดหนุนรายหัว สำหรับนักเรียนทั่วไป เงินอุดหนุนรายหัวจัดสรรให้นักเรียนทุกคน ตั้งแต่ระดับก่อนประถมศึกษาจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยมีอัตราการจัดสรรจำแนกตามระดับ ดังนี้ 1) ระดับก่อนประถมศึกษา 1,734  บาท/คน/ปี ภาคเรียนละ 867  บาท/คน 2) ระดับประถมศึกษา 1,938  บาท/คน/ปีภาคเรียนละ 969  บาท/คน 3) ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 3,570  บาท/คน/ปี ภาคเรียนละ 1,785  บาท/คน และ 4.) ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 3,876  บาท/คน/ปี ภาคเรียนละ 1,938  บาท/คน
สำหรับนักเรียนโรงเรียนการศึกษาพิเศษ มีเกณฑ์การจัดสรร ดังนี้ ระดับก่อนประถมศึกษา นักเรียนประจำ 31,054  บาท/คน/ปี ภาคเรียนละ 15,527  บาท/คน นักเรียนไป – กลับ 8,954  บาท/คน/ปีภาคเรียนละ 4,477  บาท/คน  ระดับประถมศึกษา นักเรียนประจำ 31,258  บาท/คน/ปี ภาคเรียนละ 15,629   บาท/คน นักเรียนไป – กลับ 9,158 บาท/คน/ปี ภาคเรียนละ 4,579 บาท/คน ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นนักเรียนประจำ 32,670   บาท/คน/ปี ภาคเรียนละ 16,335 บาท/คน นักเรียนไป – กลับ 10,570 บาท/คน/ปี ภาคเรียนละ 5,285  บาท/คน ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย นักเรียนประจำ 32,576 บาท/คน/ปี ภาคเรียนละ 16,288  บาท/คน นักเรียนไป – กลับ 10,876 บาท/คน/ปี ภาคเรียนละ 5,438 บาท/คน
สำหรับศูนย์การศึกษาพิเศษ ได้รับเงินอุดหนุนโครงการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 4 รายการ ได้แก่ ค่าหนังสือเรียน ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าเครื่องแบบนักเรียน และค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ในส่วนเงินอุดหนุนค่าอาหารและปัจจัยพื้นฐานนักเรียนประจำ ซึ่งได้รับจัดสรรในผลผลิตเด็กพิการได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานและการพัฒนาสมรรถภาพ โดยให้บริหารงบประมาณให้เป็นไปตามรายการค่าจัดการเรียนการสอน (เงินอุดหนุนรายหัว) ค่าอาหารนักเรียนประจำ  27,000  บาท/คน/ปี ภาคเรียนละ 13,500  บาท/คน ค่าอาหารนักเรียน ไป – กลับ 6,600  บาท/คน/ปี ภาคเรียนละ 2,970  – 3,630 บาท/คน ปัจจัยพื้นฐานนักเรียนประจำ 1,000 บาท/คน/ปี ภาคเรียนละ  500 บาท/คน
ค่าหนังสือเรียนเป็นค่าหนังสือเสริมประสบการณ์สำหรับระดับก่อนประถมศึกษา ค่าหนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐาน ใน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ทุกระดับชั้น และแบบฝึกหัดรายวิชาพื้นฐาน ใน 3 กลุ่มสาระการเรียนรู้ เฉพาะชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เพื่อจัดสรรให้นักเรียนมีหนังสือใช้เรียนครบทุกคน ดังนี้  มูลค่าหนังสือต่อชุด ก่อนประถมศึกษา จำนวน 200 บาท/คน/ปี ประถมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 656  บาท/คน/ปี ประถมศึกษาปีที่ 2 จำนวน  650 บาท/คน/ปี ประถมศึกษาปีที่ 3 จำนวน  653 บาท/คน/ปี ประถมศึกษาปีที่ 4 จำนวน  707 บาท/คน/ปี ประถมศึกษาปีที่ 5 จำนวน 846 บาท/คน/ปี ประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 859 บาท/คน/ปี มัธยมศึกษาปีที่ 1 จำนวน  808 บาท/คน/ปี มัธยมศึกษาปีที่ 2 จำนวน  921 บาท/คน/ปี มัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน  996 บาท/คน/ปี มัธยมศึกษาปีที่ 4 จำนวน 1,384 บาท/คน/ปี มัธยมศึกษาปีที่ 5 จำนวน 1,326 บาท/คน/ปี มัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 1.164 บาท/คน/ปี และปวช. 1- 3 ที่จัดโดยสถานประกอบการ จำนวน 2,000 บาท/คน/ปี
ทั้งนี้หากกรณีที่ได้รับแจ้งจัดสรรงบประมาณยังไม่ครบตามวงเงินงบประมาณค่าหนังสือเรียนให้สถานศึกษายืมเงินจากงบเงินอุดหนุน รายการค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียนมาใช้เป็นลำดับแรกก่อน หากยังไม่พอให้ยืมเงินจากรายการค่าจัดการเรียนการสอนเป็นลำดับถัดไป และเมื่อได้รับการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมครบจำนวนนักเรียนจริงให้ส่งใช้คืนรายการเดิม ดังนั้นงบประมาณในการจัดซื้อหนังสือเรียนและแบบฝึกหัดสามารถถัวจ่ายระหว่างกลุ่มสาระการเรียนรู้และระดับชั้นได้
ค่าอุปกรณ์การเรียนได้แก่ สีเทียน สีน้ำ ดินน้ำมันไร้สารพิษ กรรไกรสำหรับเด็กปฐมวัย กระดาษ สมุดดินสอ ปากกา ยางลบ ไม้บรรทัด กระเป๋านักเรียน อินเทอร์เน็ตซิมเพื่อใช้ในการเรียนการสอน วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับนักเรียนพิการ ฯลฯ ในอัตรา ดังนี้ระดับก่อนประถมศึกษา 290 บาท/คน/ปีภาคเรียนละ 145บาท/คน ระดับประถมศึกษา 440 บาท/คน/ปี ภาคเรียนละ 220 บาท/คน ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 520  บาท/คน/ปี ภาคเรียนละ 260 บาท/คน ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย  520 บาท/คน/ปี ภาคเรียนละ 260บาท/คน ระดับ ปวช.1 – 3 ที่จัดโดยสถานประกอบการ 520 บาท/คน/ปี ภาคเรียนละ 260บาท/คน ผู้ปกครอง/นักเรียนสามารถถัวจ่ายระหว่างอุปกรณ์การเรียนและเครื่องแบบ นักเรียนได้
ค่าเครื่องแบบนักเรียน  ประกอบด้วย เสื้อ กางเกง กระโปรง ในอัตรา ดังนี้ระดับก่อนประถมศึกษา 325 บาท/คน/ปีระดับประถมศึกษา 400  บาท/คน/ปีระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 500 บาท/คน/ปีระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 550  บาท/คน/ปีระดับ ปวช. 1- 3 ที่จัดโดยสถานประกอบการ 950 บาท/คน/ปี ทั้งนี้ผู้ปกครองหรือนักเรียนสามารถถัวจ่ายระหว่างเครื่องแบบนักเรียนและอุปกรณ์การเรียนได้ กรณีนักเรียนมีชุดนักเรียนเพียงพอแล้ว
ค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน  งบประมาณพัฒนากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียนต่อนักเรียน 1 คน เป็นกิจกรรมที่สถานศึกษาจัดเพิ่มเติมนอกจากการเรียนปกติในชั้นเรียน เพื่อให้นักเรียนทุกคนได้รับการพัฒนาเต็มตามศักยภาพ  โดยจัดสรรงบประมาณภาคเรียนละ 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 จัดสรรงบประมาณ ร้อยละ 70 ของจำนวนนักเรียนในสังกัดทุกคน โดยใช้ข้อมูลนักเรียนรายบุคคลของภาคเรียนที่ 1/2565  ครั้งที่ 2 จัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมให้ครบร้อยละ 100 ของจำนวน นักเรียนที่มีตัวตนในสถานศึกษาหลังจากสถานศึกษารายงาน และยืนยันข้อมูลนักเรียนรายบุคคล ของภาคเรียนที่ 2/2565  ภาคเรียนที่ 1/2566  จัดสรรงบประมาณภาคเรียนละ 2  ครั้ง ครั้งที่  1 จัดสรรงบประมาณ ร้อยละ 70  ของจำนวนนักเรียนเดิม ดังนี้ก่อนประถมศึกษา ภาคเรียน 1/2565  จำนวน 219 บาท  ภาคเรียน 1/2566 จำนวน 219 บาท รวมงบประมาณ 434 บาท ต่อคน/ต่อปี  ประถมศึกษาภาคเรียน 1/2565 จำนวน  244 บาท  ภาคเรียน 1/2566 จำนวน 245 บาท รวมงบประมาณ 439  บาทต่อคน/ต่อปี  มัธยมศึกษาตอนต้น ภาคเรียน 1/2565 จำนวน 448 บาท ภาคเรียน 1/2566  จำนวน 449 บาท รวมงบประมาณ 879 บาทต่อคน/ต่อปีมัธยมศึกษาตอนปลาย ภาคเรียน 1/2565 จำนวน 484 บาท ภาคเรียน 1/2566 จำนวน 485 บาท รวมงบประมาณ 969  บาท ต่อคน/ต่อปี ปวช. 1- 3 ที่จัดโดยสถานประกอบการ ภาคเรียน 1/2565 จำนวน 484 บาท  ภาคเรียน 1/2566 จำนวน 485 บาท รวมงบประมาณ 969 บาทต่อคน/ต่อปี
ด้าน ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวถึงการบริหารจัดการเรื่องเงินอุดหนุนรายหัวนักเรียนว่า ในปีการศึกษา 2566 นี้ว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้จัดสรรเงินอุดหนุนรายหัวตามความจำเป็นพื้นฐานที่ได้มาทั้งหมดนั้น โดยสพฐ.ใช้ระบบการคำนวณการจัดสรรเงินตามข้อมูลรายหัวนักเรียนเดิมของปีที่ผ่านมา ซึ่งเมื่อเดือนธันวาคม 2565 สพฐ. ได้จัดสรรเงินรายหัวไปแล้ว 70% ของเงินอุดหนุนรายหัวที่ได้มา ต่อจากนั้นในวันที่ 10 มิ.ย. ถือเป็นการเริ่มต้นของปีการศึกษาใหม่ โดยสถานศึกษาจะรายงานข้อมูลนักเรียนที่เข้าใหม่ทั้งหมดมาที่ส่วนกลาง ซึ่ง สพฐ.จะบริหารจัดการคำนวณตัวเลขหักลบให้เหมาะสมกับจำนวนนักเรียน ขณะเดียวกัน หากโรงเรียนใดได้รับการจัดสรรเงินอุดหนุนรายหัวเกินจำนวนนักเรียนที่มีตัวตนอยู่จริงให้นำส่งคืนงบประมาณ ทั้งนี้ ในเรื่องการจัดสรรเงินอุดหนุนรายหัวตามความจำเป็นพื้นฐานที่รัฐบาลเห็นชอบการปรับอัตราเงินอุดหนุนรายหัวนั้น สพฐ. บริหารจัดการเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า การปรับเพิ่มอัตราเงินอุดหนุนรายหัวตามความจำเป็นพื้นฐานนั้นไม่ได้เพิ่มจำนวน แต่เป็นการเพิ่มปริมาณต่อหัวต่อคน เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้เรียนและเพิ่มศักยภาพสถานศึกษาในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี ตั้งแต่ระดับก่อนประถมศึกษา ประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น มัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งการปรับอัตราเงินอุดหนุนรายหัวฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้น สามารถจำแนกตามรายการค่าใช้จ่าย ดังนี้ ค่าใช้จ่ายด้านผู้เรียน มี 2 ส่วน คือ 1. ค่าอุปกรณ์การเรียน ปรับเพิ่มตามผลการศึกษาค่าใช้จ่ายจริงสำหรับอุปกรณ์การเรียนพื้นฐาน ซึ่งอ้างอิงราคาขายร้านสหกรณ์โรงเรียน โดยจัดให้ผู้เรียนการศึกษาขั้นพื้นฐานทุกคน ตั้งแต่ปี 2566และคงอัตราเดิมในปีต่อไป และ 2. ค่าเครื่องแบบ ปรับตามผลการศึกษาค่าใช้จ่ายจริงสำหรับเครื่องแบบนักเรียน 1 ชุด ประกอบด้วยเสื้อ กางเกง หรือกระโปรง โดยให้ผู้เรียนทุกคนมีเครื่องแบบครบ 1 ชุด และเพิ่มเติมอีก 1 ชุดเฉพาะผู้เรียนยากจนที่ผู้ปกครองถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ สำหรับค่าใช้จ่ายด้านสถานศึกษา ได้แก่ ค่าจัดการเรียนการสอน และค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน
“อย่างไรก็ตามการเพิ่มอัตราเงินอุดหนุนรายหัวตามความจำเป็นพื้นฐานนั้นจะช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของนักเรียน โดยเฉพาะเด็กจะได้ชุดนักเรียนตรงกับราคาที่เหมาะสม ส่วนเงินพัฒนาผู้เรียนก็จะส่งผลให้เด็กมีกิจกรรมการเรียนรู้นอกห้องเรียนได้มากขึ้น ดังนั้นเมื่อมีการปรับเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัวฯก็เท่ากับเป็นการเพิ่มมิติค่าใช้จ่ายส่วนตัวและกระบวนการเรียนรู้  พร้อมลดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ครอบครัวนักเรียนยากจนลงได้ รวมทั้งช่วยเพิ่มศักยภาพของสถานศึกษาในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างแท้จริง” ดร.อัมพร กล่าว
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานแจ้งจัดสรรงบประมาณ กิจกรรมการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานตามโครงการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นรายสถานศึกษาจำแนกตามระดับการศึกษาให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทราบและแจ้งให้สถานศึกษาทราบ เพื่อเตรียมการจัดซื้อจัดหา จัดกิจกรรมต่อไปสถานศึกษาสามารถเปิดดูรายละเอียดการจัดสรรได้จากเว็บไซต์สำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐานตามที่อยู่เว็บไซต์http://www.bopp.go.th
[อ่านต่อ]