สพฐ. มองไกล เตรียมเด็กไทยทั้งประเทศสู่สมรรถนะสากล ยกคุณภาพที่ห้องเรียนเป็นแกนขับเคลื่อน

เมื่อวันที่ 27 พ.ค.ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ตนได้ร่วมประชุมติดตามความพร้อมคณะทำงานการขับเคลื่อนการนำผลการประเมินจากโปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากลไปใช้วางแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาระดับเขตพื้นที่การศึกษา โดยมี รก.ทปษ.สพฐ. ผอ.สทศ. ผอ.สบว. ผอ.ศูนย์ PISA ผอ.สถาบันภาษาไทย ผอ.กลุ่มพัฒนาหลักสูตรและการเรียนรู้ และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมชั้น 3 อาคาร สพฐ.1 และผ่านระบบออนไลน์ Zoom Meeting
.
การประชุมครั้งนี้ให้มีการแต่งตั้งคณะทำงานการขับเคลื่อนการนำผลการประเมินจากโปรแกรมสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (PISA) ระดับเขตพื้นที่การศึกษา (เพิ่มเติม) ประกอบด้วย 2 ชุดคณะทำงาน ได้แก่ ชุดที่ 1 คณะทำงานขับเคลื่อนงานด้านวิชาการ ติดตามและประเมินผล โดยมี ดร.ชนาธิป ทุ้ยแป เป็นประธาน และชุดที่ 2 คณะทำงานขับเคลื่อนระดับเขตพื้นที่โดยมี ดร.ภูริวรรษ คำอ้ายกาวิน เป็นประธาน และ ผอ. เขตพื้นที่ ผอ. โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยเป็นพี่เลี้ยงขับเคลื่อนที่พื้นที่ร่วมกัน
.
นอกจากนี้ยังได้นำเสนอผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของหน่วยงานภายใต้สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ประกอบด้วยสำนักบริหารงานความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์ศึกษา ดำเนินงานขับเคลื่อน PISA โดยให้บริการวิชาการ ด้วยการขับเคลื่อนระดับเขตพื้นที่การศึกษาด้านวิชาการ ให้บริการกับโรงเรียนในเครือข่ายเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ สร้างความตระหนัก และกระตุ้นให้เห็นความสำคัญของการเข้าร่วมโครงการ PISA พร้อมทั้งสร้างทีมของโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ เพื่อพัฒนาศักยภาพนักเรียนโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย ซึ่งพบว่านักเรียนควรได้รับการพัฒนาในด้านความฉลาดรู้ ด้านการอ่าน เพื่อเป็นการเต็มเติมศักยภาพนักเรียนให้สมบูรณ์พร้อมในทุกมิติ รวมถึงการพัฒนาบทอ่านตามระดับความฉลาดรู้ด้านการอ่านสำหรับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น และวางแผนส่งเสริมสนับสนุนขยายผลไปสู่นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นในโรงเรียนขยายโอกาส
สถาบันภาษาไทย สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา ได้นำเสนอโครงการพัฒนาสมรรถนะการอ่านขั้นสูง สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2564-2565 ระยะที่ 1 การพัฒนาวิทยากรแกนนำ ระยะที่ 2 การขยายผลสู่การปฏิบัติ ระยะที่ 3 การนิเทศติดตามการดำเนินงาน และสรุปผลการนิเทศ ระยะที่ 4 การต่อยอดการพัฒนาสมรรถนะการอ่านขั้นสูง รวมทั้งให้บริการสี่อผ่านช่องทางออนไลน์ที่หลากหลาย
.
ศูนย์ PISA สพฐ. ได้รายงานผลการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2566 โดยให้บริการข้อสอบประเมินความฉลาดรู้ตามแนวทางการประเมิน PISA พร้อมทั้งพัฒนาศักยภาพครูผู้สอนเพื่อยกระดับสมรรถนะความฉลาดรู้ด้านการอ่านของผู้เรียนด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์จากโปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล รวมถึงสื่อสารสร้างความเข้าใจเพื่อเตรียมความพร้อมรับการประเมิน PISA 2025 และกำหนดกรอบการพัฒนาความฉลาดรู้ของผู้เรียนระดับประถมศึกษาตอนปลาย
.
อีกทั้งยังดำเนินการวางแผนและรูปแบบการดำเนินงาน ประกอบด้วย แผนการพัฒนาระยะยาวเพื่อยกระดับความฉลาดรู้ด้านการอ่านตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนถึงระดับมัธยมศึกษา โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาจำแนกตามระดับชั้น ได้แก่ ชั้นประถมศึกษาตอนต้น ให้ส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน มีสมาธิในการอ่าน และเล่าเรื่องราวที่อ่านได้ ชั้นประถมศึกษาตอนปลาย ให้ส่งเสริมการอ่านคล่อง การอ่านบทอ่านที่หลากหลาย รวมทั้งการคิดเชิงวิพากษ์จากบทอ่าน และนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ให้ส่งเสริมทักษะ เทคนิค การอ่านบทอ่านดิจิทัล และการอ่านบูรณาการข้ามกลุ่มสาระการเรียนรู้ พร้อมทั้งดำเนินการขับเคลื่อนระดับสถานศึกษา แยกตามภูมิภาค จำนวน 4 จุด โดยนำกลุ่มเป้าหมายจากสถาบันภาษาไทย ศูนย์ PISA สพฐ. และโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย มากำหนดขอบเขตระดับเขตพื้นที่และระดับสถานศึกษาให้เหมาะสม และนำสู่การปฏิบัติจนก่อให้เกิดผลสำเร็จในระดับนักเรียน และจัดประชุมเพื่อยกร่างหลักสูตรฝึกอบรมฯ เพื่อให้โรงเรียนสามารถขับเคลื่อนได้อย่างเป็นรูปธรรม อันประกอบด้วย องค์ความรู้โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย สถาบันภาษาไทย และศูนย์ PISA สพฐ.
.
ทั้งนี้ นางเกศทิพย์ ศุภวานิช กล่าวว่า ความสำคัญต่อการเตรียมความพร้อมเพื่อให้นักเรียนทุกระดับชั้นรักการอ่าน คิดวิเคราะห์ คิดแบบเป็นระบบ มีเหตุและผลในการนำไปสู่การสื่อสาร ถกแถลง รวมทั้งสร้างบรรยากาศความเห็นต่างอย่างมีเหตุผลและเชิงสร้างสรรค์ เพื่อสังคมที่จะร่วมกันก้าวไปข้างหน้าเพื่อพัฒนาต่อไป ซึ่งเป็นความฉลาดรู้ในการอ่านและแสวงหาข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ซึ่งเป็นสมรรถนะสากลที่เป็นเป้าหมายเพื่อกำหนดทิศทางของสถานศึกษา และร่วมมือกันขับเคลื่อน การพัฒนาในจุดที่ควรเติมจึงควรนำผลการประเมินจากโปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนสากลไปใช้ในห้องเรียนเพื่อนำสู่การพัฒนาคุณภาพอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเครือข่ายแกนนำทั้งในระดับประเทศ ภูมิภาค เขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษา จะมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการยกระดับคุณภาพของนักเรียนให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม โดยส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในกลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เพื่อสร้างทีมแกนนำ และเปิดกว้างให้ครูผู้สอนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ รวมถึงครูที่มีความสนใจ ได้มีโอกาสร่วมพัฒนาเครื่องมือประเมินผลการเรียนรู้ตามแนวทางสากลเพื่อนำไปใช้พัฒนานักเรียนในระดับห้องเรียน ผ่านการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่มีการบูรณาการข้ามกลุ่มสาระการเรียนรู้ทั้ง 8 กลุ่มสาระฯ
.
“พร้อมกันนั้น ต้องส่งเสริมและสนับสนุนนักเรียนให้มีโอกาสได้อ่าน คิด วิเคราะห์ และฝึกประสบการณ์ต่างๆ อย่างหลากหลายและต่อเนื่อง จนนักเรียนเกิดความคุ้นเคยต่อเครื่องมือที่ใช้ในการประเมิน ซึ่งผลจากการปฏิบัติจะสามารถช่วยพัฒนานักเรียนให้เกิดสมรรถนะสำคัญที่ส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับนานาชาติได้อย่างครอบคลุม ทั้งองค์ประกอบในด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และทักษะการอ่านรู้เรื่องความฉลาดรู้ด้านการอ่าน ทำให้เกิดสมรรถนะที่จำเป็นแก่นักเรียนได้อย่างรอบด้านครบทุกมิติ ซึ่งการเริ่มพัฒนาคุณภาพตั้งแต่ในห้องเรียนจะส่งผลให้นักเรียนของเราก้าวไปสู่ความเป็นพลเมืองโลกที่มีคุณภาพในที่สุด” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว…
[อ่านต่อ]