‘อัมพร’ ประชุมเขตพื้นที่ฯทั่วประเทศ เคลียร์ปม มสด.ตรวจคะแนนพลาด เผยเยียวยา 8 คน ได้รับผลกระทบแล้ว

‘อัมพร’ ประชุมเขตพื้นที่ฯทั่วประเทศ เคลียร์ปม มสด.ตรวจคะแนนพลาด เผยเยียวยา 8 คน ได้รับผลกระทบแล้ว
เมื่อวันที่ 5 เมษายน นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทั่วประเทศ ผ่าน Video Conference  ว่า ตนได้ชี้แจงผลกระทบจากที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เมื่อเร็วๆ นี้ มีมติเห็นชอบเพิกถอนรายชื่อผู้ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เป็นการเฉพาะราย 4 ราย เนื่องจากทางมหาวิทยาลัยสวนดุสิต (มสด.) มีการรวมคะแนนสอบภาค ค สอบสัมภาษณ์ผิดพลาดไป 1 คะแนนนั้น ว่าเรื่องนี้ส่งผลกระทบแค่ 8 คนเท่านั้น คือ ผู้ถูกเพิกถอน 4 ราย และผู้ได้รับการแต่งตั้งใหม่ 4 ราย ซึ่งทั้ง 8 คน ได้รับการเยียวยาจนเป็นที่พอใจแล้ว และตัดสินใจที่จะไม่ฟ้องร้อง
“ความผิดพลาดครั้งนี้มาจากการดำเนินงานของ มสด. ที่เป็นผู้รับจ้างจัดสอบและออกข้อสอบ โดยมี ก.ค.ศ. เป็นผู้ว่าจ้าง ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีหน้าที่บรรจุผู้สอบผ่านตามบัญชีที่คณะกรรมการสรรหาผู้ดำรงผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ ออกประกาศ โดย สพฐ.ทำการบรรจุตั้งแต่งตั้งแต่วันที่ 30 ตุลาคม 2565 แล้ว ยอมรับว่ากรณีที่เกิดขึ้น อาจจะมีคนที่ไม่มีความมั่นในกับผลสอบครั้งนี้ ซึ่งผมได้พูดคุยกับ ก.ค.ศ.แล้วจะต้องเปิดโอกาสให้ผู้ที่ไม่มั่นใจเข้ามาตรวจสอบคะแนนของตน แต่เมื่อตรวจสอบและพบข้อเท็จจริงแล้ว ขอให้ทุกคนยอมรับความเป็นจริงด้วย” นายอัมพร กล่าว
นายอัมพร กล่าวต่อว่า ส่วนจะทำความเข้าใจกับผู้ที่เสียสิทธิและจะไปฟ้องศาลปกครอง เพื่อขอให้ดำเนินการยกเลิกและสอบบรรจุใหม่หรือไม่นั้น เรื่องนี้ถือเป็นสิทธิของแต่ละบุคคล หากมีการฟ้องศาลจริง ก็ขอให้ทุกอย่างเป็นไปตามดุลพินิจของศาล แต่ในส่วนของ สพฐ.นั้น เป็นเพียงผู้ใช้บัญชีและปฏิบัติตามระเบียบขั้นตอนที่ ก.ค.ศ.วางไว้เท่านั้น
นายอัมพร กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ มอบหมายให้เขตพื้นที่ฯ วิเคราะห์ผลการดำเนินจัดการศึกษาด้านโอกาสของนักเรียนหลังจากจบปีการศึกษา 2565 ว่า มีเด็กสามารถเลื่อนชั้นได้ครบทุกคนหรือไม่ มีเด็กกี่คนที่ไม่สามารถเลื่อนชั้นได้ ดำเนินการช่วยเหลือเด็กที่ไม่สามารถเลื่อนชั้นได้อย่างไร ส่งต่อเด็กในปีการศึกษา 2566 อย่างไร และมีเด็กออกกลางคันหรือไม่ หากพบแล้วดำเนินการช่วยเหลืออย่างไร พร้อมกับให้เขตพื้นที่ฯ ทำการวิเคราะห์ว่าใน 1 ปีที่ผ่านมา จากที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดทำคู่มือความปลอดภัยในสถานศึกษาให้โรงเรียนไปปฏิบัติตาม มีโรงเรียนกี่แห่งที่สามารถปฏิบัติตามได้ดี ประสบความสำเร็จ มีโรงเรียนกี่แห่งที่ยังมีปัญหา และปีหน้าจะปรับเปลี่ยนอย่างไรเพื่อสร้างความปลอดภัยในสถานศึกษา  นอกจากนี้มอบหมายให้เขตพื้นที่ฯ จัดทำแผนเตรียมการรับมือเปิดเทอม 1 ปีการศึกษา 2566 โดยเฉพาะการเตรียมคน ที่จะต้องหาครูให้ครบชั้น และให้โรงเรียนทุกแห่งมีผู้อำนวยโรงเรียน รวมทั้งการเตรียมอุปกรณ์การเรียน ชุดนักเรียน และอุปกรณ์การเรียนต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมเพื่อจัดการเรียนการสอนให้นักเรียนอย่างดีที่สุด
[อ่านต่อ]

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *