“ตรีนุช”มอบนโยบายเคลื่อนการศึกษาปีงบฯ 66

รมว.ศึกษาธิการ มอบนโยบายขับเคลื่อนการศึกษาปีงบฯ 66 เตรียม ศธจ.-ศธภ.รับบทบาทใหม่

เมื่อวันที่ 3 พ.ย.ที่โรงแรมเคพี แกรนด์ จังหวัดจันทบุรี น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ กล่าวตอนหนึ่งในการเป็นประธานการประชุมขับเคลื่อนนโยบายการจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ในระดับพื้นที่ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โดยมีปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ศึกษาธิการภาค ศึกษาธิการจังหวัดทั่วประเทศ และผู้บริหารการศึกษาในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี เข้าร่วมประชุม ว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการพัฒนาการศึกษาของชาติ เน้นแนวทางการพัฒนาระบบบริหารงานราชการให้มีความคล่องตัว รวดเร็ว โปร่งใส ,เน้นการกระจายอำนาจสู่ระดับภูมิภาค เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานและให้การบริหารราชการประสบผลสำเร็จตามเป้าหมาย ซึ่ง ศธ.ได้นำมากำหนดเป็นนโยบาย และจุดเน้นหลัก ที่ต้องการพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารและการจัดการศึกษา โดยการส่งเสริม สนับสนุนสถานศึกษาให้มีความเป็นอิสระและคล่องตัว มีการกระจายอำนาจการบริหารและการจัดการศึกษาโดยใช้จังหวัดเป็นฐาน รวมถึงการจัดโครงสร้างหน่วยงานให้เอื้อต่อการจัดการเรียนการสอนให้มีคุณภาพ
 
รมว.ศธ.กล่าวต่อไปว่า ขณะเดียวกันมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ที่ 19 / 2560 เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งการแก้ไขกฎหมายนี้ จะมีผลในการถ่ายโอนภารกิจงานด้านการบริหารงานบุคคลไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และมีผลต่อการปรับบทบาทของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด(ศธจ.) และสำนักงานศึกษาธิการภาค(ศธภ.) สู่บทบาทใหม่ ที่มุ่งให้ความสำคัญต่อการกำหนดนโยบาย จัดทำแผนงาน และการส่งเสริมสนับสนุนด้านการศึกษา รวมถึงการติดตาม และประเมินผลสำเร็จของการปฏิบัติงาน ซึ่งเป็นการปรับบทบาทหน้าที่ ให้มีความเข้มข้นในการยกระดับคุณภาพทางการศึกษา เป็นการทำงานร่วมกันของทุกหน่วยงานที่จัดการศึกษาในจังหวัด โดยเครื่องมือหนึ่ง ที่สามารถนำมาใช้สำหรับการแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติได้อย่างชัดเจน คือ การจัดทำแผนพัฒนาการศึกษาในระดับภาค และระดับจังหวัด ที่สอดคล้องกับบริบทในพื้นที่ โดยกำหนดทิศทางการศึกษาร่วมกับทางผู้ว่าราชการจังหวัดว่าทิศทางการศึกษาจังหวัดของตนจะเป็นอย่างไร ก็จะทำให้ตอบโจทย์การศึกษานำไปสู่เป้าหมายที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น


ขณะเดียวกัน ศธภ. ต้องแสดงบทบาทนำของตนอย่างแข็งแรง เพื่อเป็นกำลังสำคัญในฐานะผู้แทนของกระทรวงในพื้นที่ รวมถึงการปฏิบัติหน้าที่ในการติดตาม และตรวจสอบการดำเนินงานตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อวัดผลความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม เพราะฉะนั้นวันนี้ ศธจ. และ ศธภ. จะเป็นเหมือนเข็มทิศการศึกษา หาทิศทางการศึกษาของแต่ละพื้นที่โดยไม่เดินหน้าไปแบบไร้ทิศทาง ตลอดจนติดตามผลว่ามีปัญหาอะไร และจะแก้ไขปัญหาอย่างไร ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง

 

[อ่านต่อ]

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *